วันเสาร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ความสัมพันธ์ขอดงนวัตกรรมกับเทคโนโลยี

ความสัมพันธ์ระหว่างนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษา
------------นวัตกรรม คือ การนำเอาความคิดใหม่ ความรู้ใหม่ การกระทำสิ่งใหม่ เพื่อปรับปรุงเปลี่ยนแปลงพัฒนาการจัดการศึกษา นำมาใช้ในการจัดการ เรียนการสอนให้เกิดประสิทธิภาพสูงขึ้น ส่วนเทคโนโลยี คือผลสืบเนื่องจากจากนำเอาความคิดใหม่ ความรู้ใหม่ วิธีการและเครื่องมือ วัสดุ อุปกรณ์ ประยุกต์เข้ากับความรู้และวิธีการทางวิทยาศาสตร์นำมาใช้นำมาปฏิบัติในการจัดการศึกษาอย่างมีระบบการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษามาใช้ จะช่วยให้การจัดการศึกษามีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง มีการพัฒนาอย่างเหมาะสมขึ้นมีประสิทธิภาพดีขึ้น ได้ผลผลิตสูงขึ้น ดังตัวอย่าง
“นวัตกรรม” (Innovation) ในการจัดการเรียนการสอน เช่น การใช้เทคนิคและวิธีการใหม่ ใช้วิธีการสอนแบบใหม่ เปลี่ยนไปจากการใช้วิธีบรรยาย ซักถามธรรมดา การผลิตวัสดุ อุปกรณ์ใหม่ ๆ ขึ้นมาใช้ในการเรียนการสอน (Instructional Materials) การจัดทำ จัดหาพวกวัสดุ อุปกรณ์ที่ทำขึ้นเองได้ ซึ่งเป็นพวก Software เช่น การทำแผนภาพ แผนภูมิ หาวัสดุในท้องถิ่นเป็นอุปกรณ์ในการสอน การจัดทำ “บทเรียนสำเร็จรูป” “บทเรียนโปรแกรม” เพื่อใช้ในการเรียนการสอนและการสอนซ่อมเสริม การจัดให้นักเรียนเก่งช่วยนักเรียนอ่อน ให้นักเรียนเป็นผู้ช่วยครู (Teacher assistant) เป็นต้น
“เทคโนโลยี”(Technology)ในการจัดการเรียนการสอนเช่นโรงเรียนที่มีคอมพิวเตอร์ใช้คอมพิวเตอร์ให้นักเรียนได้ศึกษาหาความรู้ด้วยการปฏิบัติตามขั้นตอน นักเรียนปฏิบัติตามขั้นตอนของการเรียนรู้ที่ซอฟแวร์ในคอมพิวเตอร์สั่งการตามลำดับขั้นการใช้วิธีโอเทปการใช้วิทยุใช้โทรทัศน์ช่วยสอนรับบทเรียนทางไกลของกรมการศึกษานอกโรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการ เช่น การรับบทเรียนของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เป็นการอาศัยการใช้เครื่องช่วยสอน เป็นต้น.
นวัตกรรมและเทคโนโลยี คือ INNOTECH
การใช้นวัตกรรม(Innovation)และเทคโนโลยี(Technology)ในการจัดการศึกษาคือใช้ในการเรียนการสอนถ้าใช้ทั้ง2อย่างร่วมกันด้วยการนำเอาเทคนิคและสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆทางวิทยาศาสตร์มาใช้เรียก“INNOTECH”ซึ่งมาจากคำเต็มว่า“InnovationTechnology”เป็นการนำเอาคำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน ขณะนี้ยังไม่มีศัพท์เฉพาะในปัจจุบันถือว่าเป็นความจำเป็นที่โรงเรียนจะต้องนำเอาหลักวิชาใหม่ๆประดิษฐ์สิ่งใหม่ขึ้นใช้และใช้เทคนิคใหม่ๆที่เป็นInnovation มาใช้ร่วมกันไปกับสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นอุปกรณ์สำเร็จรูปเป็นเครื่องช่วยสอนซึ่งเป็นTechnologyนำมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนไปว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องนำ INNOTECH เข้ามาใช้ในโรงเรียนหรือสถานศึกษา.
สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเมื่อนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในการศึกษา
การนำนวัตกรรม และเทคโนโลยีมาใช้ในการศึกษาและใช้ในการเรียนการสอน ต้องคำนึงถึงความสำคัญ 3 ประการ คือ .
1.ประสิทธิภาพ(Efficiency)ในการเรียนการสอนต้องให้ผู้เรียนผู้สอนได้เรียนและได้สอนเต็มความสามารถเต็มหลักสูตรเต็มเวลาด้วยความพึงพอใจ เกิดการเรียนรู้ตามจุดประสงค์เต็มความสามารถ (Full Energy) และเกิดความพอใจ (Satisfaction) เป็นที่ได้ใช้สื่อนั้น
2.ประสิทธิผล(Productivity)ในการจัดการเรียนการสอนให้บรรลุจุดประสงค์ตามที่กำหนดจุดประสงค์ไว้ซึ่งนักเรียนเกิดการเรียนรู้บรรลุจุดประสงค์ได้ดีกว่า สูงกว่าไม่ใช้สื่อนั้น และ
3.ประหยัด (Economy) ในการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการจัดการเรียนการสอน ต้องคำนึงถึงสภาพความเหมาะสมตามฐานะแล้ว จะต้องประหยัด นั่นคือ ประหยัดทั้งเงินประหยัดเวลา และประหยัดแรงงาน
INNOTECH หรือนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษา มี 18 ประการ
“อินโทเทค” มี 18 รายการ ดังต่อไปนี้ โดยพวก 11 ข้อแรก จัดเป็น “วิธีการ” และ 7ข้อ พวกหลัง จัดเป็น “เครื่องมือต่าง ๆ “
1. การเรียนการสอนระบบไม่มีชั้น (Non –Graded System)
2. ระบบการเรียนโดยนักเรียนสอนกันเอง นักเรียนเก่งสอนนักเรียนอ่อน (Peer Tutoring)
3. การจัดคาบเวลาการเรียนการสอนแบบยึดหยุ่น (Modular Scheduling)
4. การแบ่งนักเรียนเป็นกลุ่มตามวิชาที่เลือก ตามความถนัด ความสามารถหรือความสนใจของเด็ก (Flexible Grouping)
5. การกำหนดวิธีการสอนให้เหมาะสมกับแต่ละรายบุคคล (Individually Prescribed Instructing )
6. โครงการส่งเสริมสมรรถภาพควรเรียนด้วยตนเอง โดยลดเวลาการสอนลง (Reduced Instructional Time)
7. การเตรียมครูสำหรับโครงการนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษา โดยลดบทบาทการสอนและสั่งการของครูลง (Non –Traditional Roles of Teachers)
8. โครงการอิมแพ็คท์ คือ จัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยผู้ปกครอง ชุมชนและครูร่วมกันจัดกิจกรรมให้การศึกษา (Instructional Management by Parents, comminuting and Teachers ; IMPACT)
9. การรวมเนื้อหาหลักสูตรที่เกี่ยวเนื่องกันให้อยู่ในหน่วยการสอนเดียวกัน (Integrated Curricular)
10. การสอนแบบโปรแกรม (Programmed Interaction)
11. การสอนเป็นคณะ (Team Teaching)
12. การสอนโดยใช้อุปกรณ์จำลอง (Simulation Technique)
13. การใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอน (Computer Assisted Instruction)
14.การเรียนระบบควบคุมด้วยตนเองใช้บทเรียนสำเร็จรูปด้วยตนเอง(InstructionModule)ต้องผ่านวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรมในแต่ละบทเรียนก่อนที่จะเรียนบทต่อไป
15. โทรทัศน์ช่วยสอน (Instruction Television)
16. โทรทัศน์เพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์ด้วยการศึกษา (Educational Television)
17. เครื่องช่วยสอน (Teaching Machines)
18. วิทยุช่วยสอน (Radio Broadcast)
ความสำคัญของนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษา
มีข้อคิด เตือนใจข้อควรคำนึงในเรื่องการแสวงหาแนวทางใหม่ๆในการเรียนการสอนว่าการพัฒนาการเรียนการสอนในโรงเรียนต้องใช้เวลาและวิธีการการคิด
จะปรับปรุงพัฒนางานวิชาการโดยแสวงหาแนวทางใหม่ๆให้ครูอาจารย์ผู้สอนใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการเรียนการสอน ต้องค่อย ๆ ทำ ทำไปเรื่อย ๆ ถ้าไม่คิดดำเนินการอะไรครู อาจารย์ในโรงเรียน จะลืมและไม่ใช้วิธีการใหม่ ๆ วิชาความรู้ ความคิดใหม่ ๆ จะหดหายไปเรื่อย ๆ ในที่สุดก็จะกลายเป็นครูผู้ชายน้ำลายรายชั่วโมง ไม่เตรียมสื่อการสอน หาเช้ากินค่ำ อ่านหนังสื่อสอนนักเรียน ขอเสนอ ข้อคิดเตือนใจด้วยภาพ จากหนังสือเอกสารประกอบกิจกรรมการพัฒนาวินัย เรื่อง การแสวงหาแนวทางใหม่ ๆ ในการเรียนการสอนของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครู กระทรวงศึกษาธิการ

ความสำคัญของนวัตกรรม

ความสำคัญของนวัตกรรม"นวัตกรรม"นวัตกรรม คืออะไร

-------------“... คนเรานั้นจะต้องมี นวัตกรรม คือต้อง innovative หรือต้องรู้จักสร้างสรรค์ ต้องมีความพร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้า ปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลก แต่ว่าก็ต้องสามารถปรับโลกให้เหมาะสมสอดคล้องกับความเป็นอยู่หรือความพอใจความสุขสบายของตัวเองเหมือนกัน ต้องแก้ปัญหาด้วยความคิด พอทางหนึ่งตันก็ต้องหาทางใหม่ ไม่งอมืองอเท้า ยิ่งใน ภาวะวิกฤต ยิ่งต้องการนวัตกรรม ซึ่งไม่เฉพาะแต่นวัตกรรมทางเทคโนโลยีเท่านั้น หากแต่เป็นนวัตกรรมของทั้งระบบโดยรวม ตั้งแต่สังคม เศรษฐกิจ และวิถีชีวิตหรือวัฒนธรรม...” สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี การแสดงปาฐกถาเรื่อง “เทคโนโลยี นวัตกรรม กับการพัฒนาประเทศ” ในการประชุมประจำปีของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2542นวัตกรรมคืออะไร?

------------เหตุใดคนเราจึงจำเป็นต้องมีนวัตกรรม?คำว่า "นวัตกรรม" หรือ นวกรรม มาจากคำภาษาอังกฤษว่า "Innovation" โดยคำว่า นวัตกรรม มีรูปศัพท์เดิมมาจากภาษาบาลี คือ นว+อตต+กรรม กล่าวคือ นว แปลว่า ใหม่ อัตต แปลว่า ตัวเอง และกรรม แปลว่า การกระทำ เมื่อรวมคำ นว มาสนธิกับ อัตต จึงเป็น นวัตต และ เมื่อรวมคำ นวัตต มาสมาส กับ กรรม จึงเป็นคำว่า นวัตกรรม แปลตามรากศัพท์เดิมว่า การกระทำที่ใหม่ของตนเอง หรือ การกระทำของตนเองที่ใหม่ (เสาวณีย์ สิกขาบัณฑิต, 2528)ส่วนคำว่า "นวกรรม" ที่มีใช้กันมาแต่เดิม มีรากศัพท์เดิมมาจากคำว่า นว แปลว่า ใหม่ กรรม แปลว่า การกระทำ จึงแปลตามรูปศัพท์เดิมว่าเป็นการปฏิบัติหรือการกระทำใหม่ๆการพิจารณาว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นนวัตกรรมนั้น Everette M. Rogers ได้ชี้ให้เห็นว่าขึ้นอยู่กับการรับรู้ของแต่ละบุคคลหรือกลุ่มบุคคลว่าเป็นสิ่งใหม่สำหรับเขา ดังนั้นนวัตกรรมของบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอาจไม่ใช่นวัตกรรมของบุคคลกลุ่มอื่น ๆ ก็ได้ ขึ้นอยู่กับการรับรู้ของบุคคลนั้นว่าเป็นสิ่งใหม่สำหรับเขาหรือไม่ อีกประการหนึ่งความใหม่ (newness) อาจขึ้นอยู่กับระยะเวลาด้วย สิ่งใหม่ๆ ตามความหมายของนวัตกรรมไม่จำเป็นจะต้องใหม่จริงๆ แต่อาจจะหมายถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เป็นความคิดหรือการปฏิบัติที่เคยทำกันมาแล้วแต่ได้หยุดกันไประยะเวลาหนึ่ง ต่อมาได้มีการรื้อฟื้นขึ้นมาทำใหม่เนื่องจากเห็นว่าสามารถช่วยแก้ปัญหาในสภาพการณ์ใหม่นั้นได้ ก็นับว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งใหม่ได้ดังนั้น นวัตกรรมอาจหมายถึงสิ่งใหม่ๆ ดังต่อไปนี้

1. สิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีผู้ใดทำมาก่อนเลย

2. สิ่งใหม่ที่เคยทำมาแล้วแต่ได้มีการรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่

3. สิ่งใหม่ที่มีการพัฒนามาจากของเก่าที่มีอยู่เดิม

-------------จากข้อความบางส่วนในการแสดงปาฐกถา ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และได้รู้ความหมายของคำว่า "นวัตกรรม" แล้ว คงทำให้เราปฏิเสธไม่ได้ว่า นวัตกรรมมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการใช้ชีวิตอยู่บนโลก ในยุคโลกาภิวัตน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการพัฒนา การคิดค้น และการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ให้เกิดขึ้นบนโลกใบใหญ่ใบนี้ เพราะหากมนุษย์เราไม่มีนวัตกรรมแล้ว ความเป็นอยู่ของมนุษย์โลกในทุกวันนี้ก็คงยังล้าหลังอยู่เช่นในอดีต และความสำคัญของนวัตกรรมคือ การทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆขึ้นบนโลกใบนี้นั่นเอง...นวัตกรรมการเรียนการสอน (Instructional Innovation)นวัตกรรมการเรียนการสอน (Instructional Innovation) คือ สิ่งที่นำมาใช้ในการจัดการเรียนการสอน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นวัตกรรมที่ นำมาใช้อาจมีผู้คิดขึ้นก่อนแล้ว หรือคิดขึ้นใหม่เพื่อให้เหมาะสมกับแต่ละสถานการณ์ นวัตกรรมการเรียนการสอนส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นแนวคิดหรือวิธีการ เช่น รูปแบบการเรียนรู้แบบร่วมมือ การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ หรืออาจมีลักษณะเป็นสื่อการเรียนการสอน เช่น บทเรียน คอมพิวเตอร์ และชุดการ สอน เป็นต้น

------------องค์ประกอบของนวัตกรรมการเรียนการสอน นวัตกรรมการเรียนการสอน มีองค์ประกอบที่สำคัญ 4 ประการได้แก่

1. วัตถุประสงค์ เป็นส่วนที่บอกว่านวัตกรรมนั้นใช้เพื่อพัฒนาอะไร ผลที่เกิดขึ้นจากการใช้คืออะไร

2. ทฤษฎี หลักการหรือแนวคิด เป็นส่วนที่ทำให้นวัตกรรมนั้นมีความน่าเชื่อถือ เมื่อนำไปใช้จะประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ และถ้าทฤษฎี หลักการ หรือแนวคิดนั้น มีงานวิจัยรองรับยิ่งทำให้มั่นใจในความสำเร็จ

3. โครงสร้าง หรือขั้นตอนการใช้ เป็นส่วนที่แสดงภาพรวมของนวัตกรรม ถ้านวัตกรรมเป็นสื่อการเรียนการสอนก็จะแสดงโครงสร้างที่เป็นส่วนประกอบต่างๆ เช่น ชุดการสอน ประกอบด้วย ซองกิจกรรมประจำศูนย์ แต่ละซองบรรจุบัตรคำสั่ง บัตรเนื้อหา บัตรกิจกรรม บัตรคำถาม และบัตรเฉลย อาจมีรูปภาพแผนภูมิ และ ของจริง นอกจากนี้ยังมีคู่มือครู ข้อทดสอบก่อน – หลังการเรียน แผ่นฝึกปฏิบัติ

4. การประเมินผล เป็นส่วนที่แสดงความสำเร็จของนวัตกรรม ประกอบด้วย วิธีวัดผล เครื่องมือที่ใช้วัดผล และวิธีการประเมินผลประเภทของนวัตกรรมการเรียนการสอน

-----------เมื่อการเรียนการสอนมีลักษณะเป็นระบบ ประกอบด้วยตัวป้อน (Input) กระบวนการ (Process) และผลผลิต (Output) การนำนวัตกรรมมาใช้จัดการเรียนการสอนจึงมีจุดหมายที่จะปรับปรุงหรือเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบการเรียนการสอน ดังนั้น จึงสามารถจัดประเภทของนวัตกรรมการเรียน การสอนให้สอดคล้องกับระบบการเรียนการสอนเป็น 4 ประเภทดังนี้

1. นวัตกรรมที่ปรับปรุงทั้งระบบการเรียนการสอน (1) รูปแบบวิธีการระบบ (The System Approach Model) ของ DickและCarey (1985) (2) กระบวนการจัดการเรียนการสอนแบบรับประกันผล ของ ชนาธิป พรกุล (2535)(3) การเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิคส์ (e-Learning)

2. นวัตกรรมที่ปรับปรุงตัวป้อน(1) แฟ้มงานของครู (Teaching Portfolio) (2) การสอนเป็นทีม (Team Teaching)(3) หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน(4) หลักสูตรเพศศึกษา และชีวิตในครอบครัว

3.นวัตกรรมที่ปรับปรุงกระบวนการจัดการเรียนการสอน (1) รูปแบบการเรียนรู้แบบร่วมมือ (Cooperative Learning Model) (2) การจัดการเรียนการสอนแบบผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง(Child -Centered Approach) (3) การสอนแบบสตอรีไลน์ (Storyline Approach) ของ Steve Bell (1967) (4) รูปแบบการจัดการเรียนการสอนแคทส์ (CATS) ของ ชนาธิป พรกุล (2543)

4.นวัตกรรมที่ปรับปรุงผลผลิต(1) การประเมินผลตามสภาพจริง (Authentic Assessment) (2) การประกันคุณภาพการศึกษาการประเมินนวัตกรรมการเรียนการสอนการเลือกนวัตกรรมใดมาใช้ปรับปรุงการเรียนการสอน ควรพิจารณาลักษณะดังนี้ 1) มองเห็นชัดเจนว่านวัตกรรมนั้นดีกว่าของเดิมที่ใช้อยู่ในด้านความสะดวก ความประหยัดและพึงพอใจ 2) ไม่ขัดแย้งกับประเพณีวัฒนธรรม ค่านิยม และความต้องการของผู้ใช้ 3) ไม่มีความซับซ้อนยุ่งยากในการใช้ ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องพัฒนาทักษะหรือความรู้ใหม่มากนัก 4) สามารถทดลอง หรือทดสอบได้ โดยใช้เวลาไม่มาก 5) สามารถเห็นผลของการใช้ได้อย่างชัดเจนและมีประโยชน์คุ้มค่า เพื่อให้การใช้นวัตกรรม คุ้มค่า สามารถพัฒนาการเรียนการสอนได้ตรงตามวัตถุประสงค์การประเมินนวัตกรรมตามเกณฑ์ซึ่งแบ่งเป็น 3 ด้าน ได้แก่ 1.เกณฑ์คุณลักษณะส่วนตัวของนวัตกรรม มี 5 ลักษณะ คือ (1) ราคาไม่แพง ดูแลรักษาง่าย (2) สะดวกในการนำไปใช้ (3) สำเร็จรูปใช้ได้ทันที (4) ไม่จำเป็นต้องใช้เวลาในการศึกษามาก(5) ไม่ขัดกับสภาพสังคม 2. เกณฑ์ผลกระทบต่อสังคม มี 3 ประการ คือ (1) มีคนนิยมใช้จำนวนมาก (2) ผลของนวัตกรรมอยู่ได้นาน(3) ไม่มีผลในทางลบ

-----------เกณฑ์การพัฒนาการเรียนการสอน มี 3 ประเด็น คือ (1) เกิดพัฒนาการในตัวผู้เรียน เช่น ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ประสบการณ์ หรือทักษะ (2) ช่วยแบ่งเบาภาระของผู้สอน เช่น ลดเวลาในการสอน หรือช่วยวิเคราะห์ปัญหาการเรียนรู้(3) ช่วยให้เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้สอนและผู้เรียนการใช้นวัตกรรมการเรียนการสอนให้ได้ผลมีผู้สอนจำนวนมากที่นำนวัตกรรมมาใช้จัดกิจกรรมการเรียนการสอนแล้วไม่ประสบความสำเร็จทั้งนี้เป็นเพราะไม่ได้ศึกษาองค์ประกอบของนวัตกรรมนั้นอย่างละเอียดให้เข้าใจ การนำมาใช้จึงไม่ได้ผลเต็มที่เหมือนผู้คิดคนแรก การศึกษาองค์ประกอบของนวัตกรรม ควรเริ่มศึกษาจาก

1. วัตถุประสงค์ของนวัตกรรมใช้พัฒนาอะไร ตรงกับวัตถุประสงค์ของบทเรียนหรือไม่

2. ทฤษฎี หลักการ และแนวคิดของนวัตกรรมจะช่วยให้ผู้สอนมีความกระจ่าง และเห็นแนวทางในการใช้นวัตกรรมให้ได้ผล

3. โครงสร้างและขั้นตอนการใช้ เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้สอนจะต้องศึกษาให้เข้าใจและลองฝึกทำเพื่อให้ได้ผลตรงตามวัตถุประสงค์ของนวัตกรรมนั้น

4. วิธีประเมินผลเป็นวิธีการที่นวัตกรรมระบุไว้สำหรับวัดผลความสำเร็จถ้าผู้สอนศึกษาครบทุกองค์ประกอบแล้ว ก็วางแผนการใช้นวัตกรรมได้ทันที หากพบว่ามีองค์ประกอบใดไม่อาจเข้ากับแผนการสอน ผู้สอนอาจปรับนวัตกรรมให้เข้ากับสภาพการเรียนการสอนได้ โดยพิจารณาปรับโครงสร้างหรือขั้นตอนการใช้ในส่วนที่เป็นรายละเอียดปลีกย่อย เพื่อให้เหมาะสมกับผู้เรียนสถานที่ หรือ เวลา ผู้สอนไม่ควรปรับขั้นตอนหลัก เพราะจะทำให้นวัตกรรมผิดเพี้ยนไป การปรับ นวัตกรรมต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์และหลักการให้มาก มิฉะนั้นการใช้นวัตกรรมจะไม่ได้ผลการเลือกใช้นวัตกรรมการเรียนรู้ให้เหมาะสมเป็นสิ่งจำเป็นที่ครูทุกคนควรศึกษาให้เชี่ยวชาญและเพื่อให้สามารถ นำไปใช้ได้อย่างเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและสภาพของผู้เรียนแล้ว จะช่วยให้การจัดการเรียนการสอน บรรลุจุดมุ่งหมายและประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง

กังหันน้ำชัยพัฒนา



-------------กังหันน้ำชัยพัฒนาสร้างขึ้น เพื่อการแก้มลพิษทางน้ำซึ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นในหลายพื้นที่ วิวัฒนาการของกังหันน้ำชัยพัฒนานั้น เริ่มจากการสร้างต้นแบบได้ครั้งแรกในปี 2532 แล้วนำไปติดตั้งยังพื้นที่ทดลองเพื่อแก้ปัญหาไปพร้อมๆ กัน ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำริ ให้มูลนิธิชัยพัฒนาดำเนินการวิจัย และพัฒนากังหันน้ำ ซึ่งโครงสร้างและส่วนประกอบ ในส่วนที่เป็นปัญหา ได้รับการแก้ไขมาโดยตลอด นับแต่มีการสร้างเครื่องต้นแบบ ในด้านโครงสร้างนั้นได้พัฒนาให้กังหันน้ำหมุนด้วยความเร็ว 1,450 รอบต่อนาที โดยที่ซองตักน้ำหมุนด้วยความเร็ว 5 รอบต่อนาที ขับด้วยมอเตอร์ขนาด 2 แรงม้า และมีการปรับปรุง โครงสร้างในรูปแบบต่างๆ เช่น ออกแบบตัวเครื่องให้สามารถ ขับเคลื่อนด้วยคนเพื่อใช้ในแหล่งน้ำ ที่ไฟฟ้ายังเข้าไปไม่ถึง เป็นต้น ด้านประสิทธิภาพสามารถถ่ายเทออกซิเจนลงน้ำได้ 0.9 กิโลกรัมต่อแรงม้า-ชั่วโมง และมีการพัฒนาให้ถ่ายเทออกซิเจนได้ 1.2 กิโลกรัมต่อแรงม้า-ชั่วโมง
กังหันน้ำชัยพัฒนา ได้รับสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อวันที่ 2 ก.พ.2536 หลังจากเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่สนองพระราชดำริ ในการพัฒนากังหันน้ำ ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ยื่นขอรับสิทธิบัตรเมื่อวันที่ 2 มิ.ย.2535 จึงนับว่าเป็นสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธย ของพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของไทย และครั้งแรกของโลก และถือว่าวันที่ 2 ก.พ.ของทุกปีเป็น “วันนักประดิษฐ์” นับแต่นั้นเป็นต้นมานอกจากนี้ “กังหันชัยพัฒนา” ยังได้รับรางวัลเหรียญทองจาก The Belgian Chamber of Inventor องค์กรทางด้านนวัตกรรมที่เก่าแก่ของเบลเยียม ภายในงาน “Brussels Eureka 2000” ซึ่งเป็นงานแสดงสิ่งประดิษฐ์ใหม่ของโลกวิทยาศาสตร์ ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม

โครงการฝายคลองช่องเรือ

-----------โครงการฝายคลองช่องเรือ (อันเนื่องมาจากพระราชดําริ) ตําบลทรายขาว อําเภอโคกธิ์ จังหวัดปัตตานี
-----------ที่ตั้งโครงการหมู่ที่ 5 ตําบลทรายขาว อําเภอโคกธิ์ จังหวัดปัตตานีประวัติโครงการสํานักราชเลขาธิการ พระบรมมหาราชวังได้มีหนังสือที่ รล0005/13381 ลงวันที่ 24 กันยายน 2544 เรียนเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดําริ เพื่อพิจารณาเสนอความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะ เพื่อจักได้นำความถวายบังคมทูลพระกรุณาประกอบพระราชดำริต่อไปโดยสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงาน โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้มีหนังสือที่ นร 1108/2098 ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2544 ขอให้กรมชลประทานพิจารณา กรณี นายอาดัม บาเหมบูงา ประธานกรรมการองค์การบริหารส่วนตําบลทรายขาว อําเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ได้มีหนังสือลงวันที่ 11 กันยายน 2544 ถึงสํานักราชเลขาธิการ ขอให้นําความกราบบังคมทูลพระมหากรุณาให้ทางราชการช่วยแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเนื่องจากขาดแคลนน้ำสําหรับอุปโภค-บริโภค จากโครงการประปาภูเขา ช่องเรือ ของราษฎรจำนวน 4 หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 1, 2, 3 และ 5 ตําบลทรายขาว อําเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานีสํานักชลประทานที่ 16 ร่วมกับสํานักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดําริและราษฎรที่ประสบความเดือดร้อนร่วมกันตรวจสอบสภาพพื้นที่และศึกษาข้อมูลต่าง ๆ ในสภาพภูมิประเทศจริงแล้วเห็นว่ามีลู่ทางช่วยเหลือราษฎรที่ประสบความ เดือดร้อนได้โดยการก่อสร้าง ฝายคลองช่องเรือทดแทนทํานบคอนกรีตเดิมที่ชํารุด พร้อมระบบท่อส่งน้ำ และถังอุปโภค-บริโภค เพื่อส่งน้ำช่วยเหลือการอุปโภค-บริโภค ของราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนดังกล่าวได้นําความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้วและทรงรับเป็นโครงการพระราชดําริ ตามหนังสือสํานักราชเลขาธิการที่ รล 0005.5/18753 ลงวันที่ 4 ธันวาคม 2545วัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำสําหรับอุปโภค - บริโภคช่วงฤดูแล้งให้มีน้ำอุปโภค - บริโภคได้เพียงพอ ตลอดปีและสามารถเพาะปลูกตามแนวท่อส่งน้ำได้ ราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนจํานวน 4 หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 1 บ้านใหญ่ หมู่ที่ 2 บ้านหลวงจันทร์ หมู่ที่ 3 บ้านทรายขาวออก หมู่ที่ 5บ้านทรายขาวตก ตําบลทรายขาว อําเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี จํานวน 526 ครัวเรือน ประชากรรายละเอียดโครงการ- ที่ตั้งหัวงานพิกัด 47 NQH 331-361 ระวาง 5,222 III- พื้นที่รับน้ำ ประมาณ 3,800 ตร.กม. ปริมาณฝนเฉลี่ย 1,227.04 มม.ลักษณะโครงการ- ก่อสร้างฝายสูง 2.00 เมตร จํานวน 1 แห่ง- ก่อสร้างถังเก็บน้ำ 1,600 ลูกบาศก์เมตร- ถังกรองน้ำ - ถังเก็บน้ำความจุ 10 ลูกบาศก์เมตร จํานวน 11 แห่ง- ท่อส่งน้ำ ∅ 0.25 เมตร 0.15 เมตร และ0.055 เมตร ความยาวรวม 12,325 เมตรระยะดําเนินการดําเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จใน ปี 2547งบประมาณในการก่อสร้างงบประมาณที่ได้รับ 22,906,000 บาทประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับสามารถส่งน้ำเพื่อการอุปโภค - บริโภค ให้แก่ราษฎรในเขตพื้นที่หมู่ที่ 1 บ้านใหญ่ , หมู่ที่ 2 บ้านหลวงจันทร์ , หมู่ที่ 3 บ้านทรายขาวออก และหมู่ที่ 5 บ้านทรายขาวตก ตําบลทรายขาว อําเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี จํานวน 526 ครัวเรือน จํานวนประชากรประมาณ 1,798 คน มีน้ำใช้สําหรับอุปโภค - บริโภค ได้ตลอดทั้งปีโครงการฝายคลองช่องเรือ (อันเนื่องมาจากพระราชดําริ) ตําบลทรายขาว อําเภอโคกธิ์ จังหวัดปัตตานี

ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร


-----------เมื่อสองปีที่แล้วผมเขียนเรื่องของศูนย์ศิลปาชีพบางไทรมาครั้งหนึ่งแล้ว คราวนี้ปลายปี ๒๕๔๓ ผมไปเที่ยวอีกแต่ไปทางเรือ ไปแล้วก็ตื่นตาตื่นใจ ชื่นชมในผลงานตามโครงการพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ จึงขอเขียนอีกสักครั้งเพื่อเทิดพระเกียรติ และเชิญชวนพวกเราไปเที่ยวกัน ศูนย์ศิลปาชีพ ฯ วันนี้แตกต่างไปกว่าเมื่อสองปีที่แล้วทุกด้าน ไม่ว่าความงดงาม งานศิลปาชีพทั้งที่ตั้งไว้เป็นนิทรรศการ และนำออกจำหน่าย สวนนก รถไฟเล็ก (ความจริงคือรถไถนา ครอบเอาไว้ด้วยร่างของหัวรถจักร) ที่จะพาขบวนนักท่องเที่ยว เที่ยวชมบริเวณศูนย์ ฯ ซึ่งหากเดินเที่ยวชมเองคงหมดสนุก สู้นั่งรถไฟเล็กขึ้นฟรีเที่ยวไม่ได้ อยากลงดูตรงไหนก็ลงดู อยากลงกินอะไร ซื้ออะไรที่ไหนก็ลงได้เลย แล้วรอขึ้นขบวนต่อไปกลับไปยังจุดหมายเดิม หรือที่หมายใหม่ได้ต่อไป เพราะ "ขึ้นฟรี" กี่เที่ยวก็ฟรีทั้งนั้น ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร อยู่ในโครงการศิลปาชีพพิเศษ ตามโครงการพระราชดำริในสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ยากจน และมีรายได้น้อย เริ่มสร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๓ โดยมีพระราชวินิจฉัยว่า บริเวณที่ตั้งต้องไม่ไกลจากกรุงเทพมหานคร และยังไม่ห่างจากพระราชวังบางปะอินอีกด้วย ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร อยู่ในเขตอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดครั้งแรกเพื่อฝึกอบรมช่างฝีมือ และหัตถกรรมมี ๑๖ แผนก เมื่อฝึกอาชีพแล้วเกิดผลผลิตขึ้นก็มีร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ทำสำเร็จแล้ว (ปัจจุบันสร้างใหม่แล้ว) และยังมีกรงนกที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นแหล่งศึกษาพันธุ์นกต่าง ๆ ที่หายากของเมืองไทย ตลอดจนร้านอาหารสำหรับบริการนักท่องเที่ยว ที่กล่าวมาคือจุดประสงค์ดั้งเดิมเมื่อมีพระราชดำริที่จะสร้างขึ้น การเดินทางไปศูนย์ศิลปาชีพบางไทร ทางรถยนต์สะดวกที่สุด เพราะหากมีรถหรือรวมกันได้จะไปเมื่อไรก็ไปได้ทันที ง่ายกว่าการรวมเพื่อไปทางเรือ แต่ความสนุกสนานจะแตกต่างกับการไปทางเรือ เส้นทางแรก เส้นทางดั้งเดิม คือไปตามถนนพหลโยธิน ไปจนเลยประตูน้ำพระอินทร์ไปอีก ๔ กิโลเมตร ประมาณกิโลเมตร ๕๔ แล้วแยกซ้ายไปหน่อย ก็แยกซ้ายอีกทีไปทางบางปะอิน ๖ กิโลเมตร จะถึงบางปะอิน และจากบางปะอินจะไปอีก ๑๗ กิโลเมตรรวมระยะทางเส้นนี้ประมาณ ๗๐ กิโลเมตร เส้นทางที่สอง ซึ่งสมัยนี้น่าจะไปตามเส้นทางนี้คือไปถึงรังสิตแล้วแยกซ้ายไปทางสามแยกบางพูล แล้วเลี้ยวขวาไปทางปทุมธานี พอเลี้ยวไปหน่อยเดียวก็เลี้ยวขวาอีกที เข้าถนนสายที่ตัดไปผ่านหลังสนามกีฬาธรรมศาสตร์ ไปออกอยุธยา ไปตามเส้นนี้จะพบทางแยกซ้ายเข้าสู่ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร ระยะทางใกล้เคียงกันแต่น่าจะเร็วกว่าเส้นทางแรก และหากเชี่ยวชาญเส้นทางยังสามารถแยกเข้าซอยเล็กซอยน้อยตัดไปได้อีกหลายทาง ทางเรือ มีเรือทัศนาจร หลายบริษัทด้วยกัน ผมจำไม่ได้ว่ามีของใครบ้าง แต่ของเรือด่วนเจ้าพระยานั้นมีแน่ ไปเที่ยวได้ถึงบางปะอินเลยทีเดียว มีประจำทุกวัดอาทิตย์ ต้องลองสอบถามดูเพราะผมยังไม่เคยไปกับเขา คราวนี้ผมไปทางเรือ แต่เป็นเรือทัศนาจรของคณะเดียวกันจึงสนุกสนานดี เป็นเรือของชลประทานซึ่งพวกเราในคณะที่ไป รุ่นเดียวกับเลขาตลอดกาลของผม ท่านเป็นชั้นผู้ใหญ่ของกรมชล เรือ รถ นั้นจะต้องลองเครื่อง จะจอดทิ้งไว้เฉย ๆ ไม่ได้ เช่นรถของทหารต้องติดเครื่องยนต์ทุกเช้า เรียกว่าการทำ มอเตอร์ สเตบิล เรือก็เช่นกันต้องมีการวิ่งทางไกลเพื่อลองเครื่อง ยิ่งเรือลำที่ไปวันนี้นั้นเป็นเรือของท่าน พล.อ.เจ้าพระยารามราฆพ ท่านขายให้กรมชลประทานเมื่อ ๗๐ ปีผ่านมาแล้ว แต่สภาพเรือยังเยี่ยมยอด เป็นเรือสองชั้น ชั้นล่างมีห้องเอนกประสงค์ และห้องสุขาชั้นดี พื้นเรือเป็นไม้ขัดมันปราบเลยทีเดียว เมื่อเรือลำนี้ออกทดลองวิ่ง ก็ขอเรือและออกค่าน้ำมัน ค่าเบี้ยเลี้ยงเจ้าหน้าที่ของเรือให้ แต่เราอาศัยนั่งไปด้วย นำอาหารไปจากกรุงเทพ ฯ เอาไป ๒ มื้อ คือมื้อเช้าและมื้อกลางวัน เรือออกจากท่าเรือของกรมชลประทานที่สามเสน เมื่อเวลาประมาณ ๐๗.๐๐ พอเรือออกก็เริ่มอาหารเช้าที่เตรียมไป มีข้าวต้มเครื่อง กาแฟ ปาท่องโก๋ แค่นี้ก็อิ่มสบายไปแล้ว และทุกคนที่ไปก็ล้วนแต่สูงอายุทั้งสิ้น จะต้องกังวลเรื่องห้องสุขา แต่การไปกับเรือลำนี้ ไม่ต้องห่วงเรื่องห้องสุขาเพราะสะอาด เป็นสากลคนหนุ่ม คนสาว คนเฒ่า ใช้ได้สะดวกหมด จุดแรกที่เรือจอดให้ขึ้นฝั่งคือ ท่าน้ำวัดเฉลิมพระเกียรต ที่นนนทบุรี ซึ่งผมเพิ่งเขียนถึงวัดเฉลิมพระเกียรติ และสวนเฉลิมกาญจนาภิเษก ไปเมื่อเร็ว ๆ นี้เอง ทบทวนให้อีกทีว่าเริ่มตั้งแต่ชมบริเวณหน้าวัด หรือเดิมคือเป็นป้อม "ทับทิม" สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย แล้วพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงโปรดให้สร้างเป็นวัดแต่ยังรักษาเอกลักษณ์เดิมไว้คือความเป็นป้อม มีกำแพง มีใบเสมา สร้างเพื่อเฉลิมพระเกียรติแก่พระอัยกา และพระอัยกีของพระองค์ ชมหน้าวัดมีวังมัจฉา ชมกำแพงวัด แล้วเข้ากำแพงไปชมพระอุโบสถซึ่งสร้างตามราชนิยมของรัชกาลที่ ๓ คือ ไทยปนจีน ภาพจิตรกรรมฝาผนัง ไปชมพระวิหารศิลาขาวที่อยู่ติดกัน เดินออกหลังพระวิหาร ไปนมัสการพระบรมธาตุเจดีย์ และชม "มอ" (เอาหินมาสร้างเป็นภูเขา) ที่มีน้ำตกและเป็นมอที่ใหญ่ที่สุด จากนั้นเดินออกหลังวัด อ้อมไปชมอุทยานเฉลิมกาญจนาภิเษก แล้วลงเรือโดยให้เรือรอรับที่ท่าน้ำของอุทยาน ฯ ใช้เวลาประมาณชั่วโมงเศษ เรือออกแล่นต่อไป ชมบ้าน ชมเรือนสองฝั่งลำน้ำ ที่แปลกหูแปลกตาไปกว่าสมัยก่อนโน้นมากมาย เพราะสิ่งก่อสร้างมากขึ้น ตึกรามบ้านช่องมากขึ้น บ้านแพริมน้ำอย่างนี้เริ่มหายาก แต่ก็ยังเป็นความงดงามตามธรรมชาติที่หาชมไม่ได้ในเมืองกรุง ฯ เรือไปถึงท่าน้ำเกาะเกร็ด ประมาณเวลา ๑๐.๓๐ คราวนี้ใช้เวลานานประมาณเกือบสองชั่วโมง เพื่อเที่ยวชมเกาะเกร็ด เมื่อขึ้นจากเรือมาบนเกาะเกร็ดแล้ว จะมีแต่ทางเดินหรือทางพอให้รถจักรยานวิ่งได้เท่านั้น ไม่มีทางให้รถยนต์วิ่งจึงปลอดมลพิษเป็นอย่างยิ่ง หากแยกเดินไปทางซ้ายจะไปยังร้านอาหารครัวชาวเกาะ ร้านขนมหวานแม่พยอม และไปสิ้นสุดที่ท่าน้ำวัดฉิมพลี หากไปจากท่าน้ำแล้วแยกไปทางขวา จะเริ่มจากวัดปรมัยยิกาวาส เลาะเรื่อยไปตามร้านอาหาร ร้านเครื่องปั้นดินเผา และไปจบที่วัดไผ่ล้อม ลงเรือกันที่ท่าน้ำวัดไผ่ล้อมเพื่อเดินทางต่อ ผมขอแนะนำที่เกาะเกร็ดไว้ด้วย เพราะเกาะเกร็ดนั้นประชาชนส่วนใหญ่ล้วนมีเชื้อสายมอญแทบทั้งสิ้น วัดปรมัยยิกาวาส จึงเสมือนวัดที่สำคัญที่สุดของชาวมอญ มีการศึกษาภาษาบาลีเป็นภาษารามัญตั้งแต่ยังชื่อว่าวัด "ปากอ่าว" ก่อนที่จะมาเปลี่ยนเป็นวัดปรมัยยิกาวาส (นามพระราชทาน) ทุกวันี้ยังมีการทำวัตรสวดมนต์ การทำอุโบสถสังฆกรรม การเจริญพระพุทธมนต์ทั่วไป การอุปสมบท ล้วนเป็นภาษารามัญหรือรักษาแบบธรรมเนียมรามัญเอาไว้ ในเกาะเกร็ดมีวัดอยู่ ๖ วัดคือ ๑. วัดปรมัยยิกาวาส ซึ่งเป็นวัดที่สำคัญ มีพิพิธภัณฑ์ที่ควรชมอย่างยิ่งอยู่ด้วย ๒. วัดไผ่ล้อม มีโบสถ์ที่งดงาม ลายหน้าบันจำหลักเป็นลายไม้ดอก หน้าโบสถ์มีเจดีย์ขนาดย่อม ๒ องค์ รูปทรงแปลกมาก ฐานสี่เหลี่ยมย่อมุมสิบสอง มอญเรียกว่า "เพียะโต้" ๓. วัดเสาธงทอง เป็นวัดโบราณ เดิมชื่อว่า วัดสวนหมาก มีเจดีย์ย่อมุมสิบสองอยู่หลังโบสถ์ มีเจดีย์องค์เล็กเป็นบริวารโดยรอบ มอญเรียกว่า "เพียะอาลาด" ๔. วัดฉิมพลี มีโบสถ์ขนาดเล็กที่งดงาม หน้าบันจำหลักเป็นรูปเทพทรงราชรถ ล้อมรอบด้วยดอกไม้ มีตุ๊กตาหินอ่อน ยุคจีนโบราณขนาดใหญ่ อยู่ข้างกำแพงประตูโบสถ์ ๕. วัดป่าเลย์ไลย์ ปัจจุบันเป็นวัดร้าง และไปอยู่รวมกับวัดฉิมพลี คงเหลือโบสถ์ไว้ให้เห็น แต่สภาพโดยทั่วไปยังดี เพดานโบสถ์เขียนลายทองงดงาม พระประธานเป็นพระปางมารวิชัยสัมฤทธิ์ บานประตูลายทองรดน้ำ ๖. วัดศาลากุน เป็นวัดเก่าเช่นกันเดิมอยู่ริมน้ำ ภายในวัดมีเครื่องแก้ว เครื่องมุก และหีบศพทำด้วยมุก อยากคุยเรื่องอาหารของเกาะเกร็ดไว้สักนิด เพราะเพิ่มมากขึ้นจากการไปครั้งที่แล้วอย่างมากมาย หากจะให้ผมคุย ก็ผมเชื่อว่าที่ผมเขียนไปนั้นมีผล เพราะผมเคยบอกว่าอะไรที่ลงท้ายด้วยคำว่า " กลา " ต่อชื่ออาหารให้ชิมให้หมด คราวนี้อาหารทำจากหน่อกลามีมากมาย หากวนขวาของเกาะจะพบแยะ เช่นทอดมันหน่อกลา มีหลายเจ้า และเจ้าหนึ่งทางซ้ายของทางเดินมีตรา ที.วี. ช่องต่าง ๆ ชิมไว้ และสาวเจ้าถึงกับบอกว่าหากมาเกาะเกร็ดไม่ได้ชิมทอดมันหน่อกลาของเขาแล้ว เหมือนมาไม่ถึงเกาะเกร็ด นอกจากนั้นยังมีพวกกาแฟสด น้ำผลไม้ใส่ถ้วยปั้นดินเผาแก้วละ ๑๕ บาท ซื้อแล้วแถมแก้วให้เอากลับบ้านได้เลย "เก๋ดี" ข้าวแช่ ขนมจีน ข้าวแกง จิปาถะ อาหารมีมากมายให้ชิม ผมจะไปใหม่ไปดูวัดให้ละเอียดกว่านี้ เพราะเคยดูละเอียดแต่ที่วัดปรมัยยิกาวาสแห่งเดียว คราวนี้จะไปตระเวนหลาย ๆ วัด เอากันให้ทั่วไปเลย จบชิมของว่างเข้าไปค่อนกระเพาะก็กลับมาลงเรือ ที่มาจอดรอที่วัดไผ่ล้อม เพื่อออกเดินทางไปยังศูนย์ศิลปาชีพบางไทรต่อ ตามลำน้ำเจ้าพระยา มีการดูดทรายโดยเรือจากลำน้ำหลายแห่ง และจะมีมากมายหลายสิบลำตรงหน้าศูนย์ เพื่อดูดเอาทรายถมมาถมที่ดินของศูนย์ยื่นต่อเข้าไปในแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งกรมเจ้าท่าและกรมโรงงานอุตสาหกรรม ควบคุมกันดีหรือเปล่า ระวังจะลามไปถึงขั้นดูดเอาไปขายตลิ่งจะพังลงมา อาหารกลางวัน จ้างเหมาเขามาเตรียมไว้ในเรือเรียบร้อยแล้ว มีแกงเขียวหวาน ลูกชิ้นปลากราย ห่อหมก หมี่กรอบ หมูปิ้ง ขนมจีน และอีกหลายอย่างอร่อย ๆ ทั้งนั้น ของหวานก็เป็นผลไม้ ขนมชั้น ตะโก้ และบัวลอย กินกันจนพุงกางยังไม่หมด จะรอเอาไว้รอบบ่ายได้อีกรอบ แต่พอถึงเวลาเข้าจริง ๆ มีคนช่วยกินหมดแล้ว ถึงท่าน้ำศูนย์ศิลปาชีพบางไทรเอาเกือบบ่ายสามโมง พอขึ้นจากท่าเรือทางขวาของแพ มีเรือก๋วยเตี๋ยวอยู่ลำหนึ่ง จอดอยู่ตรงโป๊ะเลยทีเดียว เข้าใจว่าเจ้าเก่าดั้งเดิมซึ่งจะอร่อยมาก วันนี้ยังไม่มีพุงจะชิม อาฆาตเอาไว้ก่อนเพราะอาหารในเรือ แย่งที่ในพุงเอาไปหมดแล้ว ต้องเดินเที่ยวเสียก่อน ที่ท่าเรือเขาตั้งโต๊ะเก็บค่าผ่านเข้าชมคนละ ๕๐ บาท อย่านึกว่าแพง เข้าไปชมเสียก่อนแล้วจึงจะบอกว่าคุ้มค่า เก็บบัตรไว้ดี ๆ จะได้เดินกลับออกมากินก๋วยเตี๋ยวได้ อาคารใหญ่ตรงหน้าห่างออกไปสัก ๑๐๐ เมตร คือ ศาลาศูนย์ศิลปาชีพ สร้างแบบทรงไทยประยุกต์ น่าจะเป็นเช่นนั้น งดงามกว้างขวางมาก เปิดแอร์ให้เย็นฉ่ำเฉพาะวันหยุด วันธรรมดา คนเข้ามาชมน้อย ค่าไฟมหาโหดตกวันละ ๘,๐๐๐ บาท จึงต้องเปิดเฉพาะวันที่มีคนเข้ามาชมกันมาก เช่นเสาร์ อาทิตย์ เป็นต้น ผมยังไม่ได้เข้าชม ผมยืนรอรถไฟที่เอาร่างของรถไฟเล็กครอบเอาไว้ แล้วพ่วงรถพ่วงอีกหลายคัน นั่งหันหน้าเข้าหากัน น่าจะให้นั่งหันไปข้างหน้าทางเดียวจะดีกว่า รถวิ่งวนไปทางซ้ายผ่านร้านอาหารต่าง ๆ ผ่านบ้านเรือนโบราณ สระน้ำ กรงนก ล้วนแต่เป็นธรรมชาติที่งดงามทั้งสิ้น รถจอดให้ลงและรับผู้โดยสารใหม่ขึ้นเป็นระยะ ๆ เราชอบใจตรงไหนเราก็ลงไปชม ไปถ่ายรูปกันให้อิ่มเสียก่อน แล้วรอคันหลังเดี๋ยวก็มาอีก ไปชมต่อไป วิธีนี้จะชมได้รอบบริเวณที่ควรแก่การชมของศูนย์ หากไปรถส่วนตัวจะวิ่งรถชมเองก็ได้ แต่ผมว่าสู้นั่งรถไฟแบบนี้ชมไม่ได้ และสุดท้ายจะมาถึงยังกลุ่มสรรพหาร มีสารพัดอาหาร ทั้งข้าว ทั้งก๋วยเตี๋ยวมีหลายสิบร้าน ตลอดจนของขายต่าง ๆ แบบฝีมือชาวบ้าน คงจะชนิดที่ยังไม่ได้คัดเลือกที่เด่นจริง ๆ เหมือนที่ศาลา แต่ก็ขายกันเต็มหมด ขนมแห้งก็แยะ ห้องสุขาก็มีที่ตรงนี้ ลงชิม ลงซื้อเสียก่อน กลับมาขึ้นรถไปต่ออีก ไปจบที่ขึ้นมาตั้งแต่แรกคือที่หน้าศาลาศูนย์ศิลปาชีพ ทีนี้เข้าชมในศาลา ชั้นล่างเป็นห้องค้า เห็นแล้วจะตกใจว่าฝีมือคนไทยขนาดนี้เชียวหรือ เช่นพวกเครื่องแก้วต่าง ๆ เสียงหลายคนที่คงเคยไปเวนิช ของประเทศอิตาลีมาแล้ว ร้องกันเลยว่า ฝีมือเวนิชแพ้ช่างไทย ซึ่งผมว่าแพ้ไทยมานานแล้ว ความละเอียดจะสู้เราไม่ได้จะเป็นการเป่าแก้ว ทำเครื่องแก้วงดงามทั้งสิ้น เครื่องเบญจรงค์ที่เคยชนะการประกวดระดับชาติมาแล้ว ก็เอามาตั้งแสดงไว้ให้ชม สินค้าภายในห้องชั้นล่างนี้บรรยายไม่ไหว เพราะมีมากเหลือเกิน ฝีมือช่างไทยทั้งสิ้น ราคาสมกับค่าของสินค้า สวยมาก สวยจริง ๆ จะเป็นผ้าแพรพรรณ กระเป๋าสตรี เครื่องแก้ว เครื่องเบญจรงค์ ล้วนทั้งขนมหวานต่าง ๆ ซื้อกลับมาแล้วจึงรู้ว่าอร่อยเหลือ ถึงต้องกลับไปอีกไปหารายละเอียดเพิ่มเติมเอามาเขียนใหม่ ไปคราวนี้จะไปกันแค่ ๒ - ๓ คน จะได้เก็บรายละเอียดได้เต็มที่ ขนมนางเล็ดก็อร่อย ขนมกงก็วิเศษ สบู่สมุนไพร โดยเฉพาะทำจากใบบัวบก ล้างหน้าได้วิเศษนัก เพราะขจัดไขมันออกหมด ผมเลยทำหนุ่ม ซื้อมา ๒ ก้อน ๆ ละ ๗๐ บาท เอามาใช้เฉพาะตอนล้างหน้าเท่านั้น เพราะกลัวหมดเร็วไปชมเองแล้วจะทราบว่ามีค่าควรแก่การชม การซื้อเพียงใด ชั้นบน มีห้องนิทรรศการ ๒ ห้อง ซ้ายและขวา ไปดูแก้วที่เป็นเรือสุพรรณหงส์ กับนกยูงรำแพน และไม้แกะสลักเป็นรูปหญิงให้นมลูก ดูแค่นี้ก็คุ้มแล้วไม่ต้องไปดูอีกร้อยชิ้นหรอก จึงขอบรรยายถึงความวิเศษ ความน่าชม เพียงเท่านี้ ซึ่งผมบรรยายยังไม่ได้หนึ่งในร้อย ของความเป็นจริง จึงขอเชิญชวนไปศูนย์ศิลปาชีพบางไทรกัน ไปกินก๋วยเตี๋ยวเรือในแม่น้ำ หรือก๋วยเตี๋ยวเรือที่มีร้านขายอีกหลายร้านในศูนย์ ไปชิมอาหารดูบ้าง แล้วลองไปซื้อสบู่ใบบัวบกมาขจัดไขมันดู ใบหน้าจะได้งามอ่อนวัย ผมกลับจากศูนย์ศิลปาชีพบางไทรก็พอดีค่ำ ขึ้นจากเรือที่ท่ากรมชลประทาน แถว ๆ สามเสนเช่นขาลงเรือ จากนั้นก็วิ่งตรงเรื่อยมาจนมาเลี้ยวซ้ายเข้าถนนราชดำเนินกลาง พอถึงวงเวียนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยซึ่งมุมแรกคือ มุมโรงเรียนสตรีวิทยา มุมที่สองคือร้านอาหาร "ร้านวิจิตร" ซึ่งเป็นร้านเก่าแก่ คงตั้งมานานร่วมสามสิบปีหรือมากกว่านั้น จอดรถหน้าร้านได้ ๑ แถว หากไม่มีให้วิ่งต่อไปนิดหนึ่งแล้วอ้อมไปจอดหลังร้าน ภายในร้าน จัดร้านสวย เก๋ไก๋เย็นสบายไม่ได้แวะมาชิมเสียหลายปี สภาพร้าน คงดีเยี่ยมเช่นเดิม เลือกนั่งโต๊ะที่ติดกับกระจก มองเห็นคนเดินผ่าน ชาวต่างประเทศเดินผ่านกันแยะทีเดียว ขึ้นมาจากแม่น้ำเลยสั่งกุ้งเผา เอาชนิดกุ้งแม่น้ำตัวโตเบ้อเริ่ม ราคาตัวละ ๑๙๐ บาท เผาแล้วผ่ามาให้เสร็จ กินสบาย เอามันกุ้งคลุกข้าวสวยร้อน ๆ วิเศษนัก ส่วนน้ำจิ้มของเขาก็มีรสแซ๊บ แต่บางทีผมชอบเอาน้ำปลาพริกมาราดมากกว่า ของกินเล่นที่สั่งมาก่อนคือ "กระทงทอง" กรอบแทบจะไม่ต้องออกแรงเคี้ยว ปูจ๋า ไม่ได้ใส่มาในกระดองปู ให้จิ้มด้วยซ๊อสศรีราชา ก้ามปูนึ่งฮ่องกง คงจะเป็นสูตรฮ่องกง แกะมาเรียบร้อยแกะสะดวก น้ำที่นึ่งมานั้นมากรสดีเยี่ยม ซดน้ำปูเสียเลยแทนแกง รสน้ำหวานนิด ๆ ด้วยความสดของปู และผักที่รวมมานึ่ง สตูว์ลิ้นวัว ใครที่กินเนื้อได้ อย่าโดดข้ามจานนี้ไปเป็นอันขาด เพราะรสสตูว์ของเขาเข้มข้นนัก ใส่มาทั้งมันฝรั่ง แครอทและถั่วลันเตา เนื้อนุ่มลิ้นเปื่อยได้ที่ ยกมากำลังร้อน ๆ พอเอาช้อนตักชิมน้ำสตูว์ รสอร่อยติดปลายลิ้นทันที ต้องราดข้าวแล้วเหยาะด้วย น้ำปลาพริกจึงจะเด็ดสมใจ จานนี้จานเดียวแล้วสั่งข้าวสวยร้อน ๆ มาก็อิ่มได้แล้ว แต่ผมคนตะกละถึงได้สั่งอาหารมาชิมหลายอย่าง ปิดท้ายด้วยไอศกรีมสตอเบอร์รี่เยลลี่หวาน เย็นไปทั่วปาก

โครงการปลูกหญ้าแฝก






----------เนื่องในมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงครองราชย์ 60 ปีในปีพุทธศักราช 2549 และจะทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา ในปีพุทธศักราช 2550 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้จัดทำโครงการปลูกหญ้าแฝกเฉลิมพระเกียรติ ระหว่าง ปี 2548-2550 เพื่อการรณรงค์ส่งเสริมและขยายผลให้ประชาชนปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ และนำหญ้าแฝกไปใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม กว้างขวางและต่อเนื่อง โดยการรวมใจของประชาชนคนไทยทั้งประเทศเข้าร่วมโครงการปลูกหญ้าแฝกเฉลิมพระเกียรติ ภายใต้การสนับสนุนของ 11 หน่วยงาน ที่ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2548 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์) เป็นประธานในพิธีกรอบแห่งความร่วมมือในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ คือ ทั้ง 11 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงกลาโหม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กรุงเทพมหานคร กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ได้ตกลงให้มีความร่วมมือกันปลูกหญ้าแฝกเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในมหามงคลสมัยฉลองสิริราชสมบัติ 60 ปี ในปีพุทธศักราช 2549 เฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา ในปีพุทธศักราช 2550 มีระยะเวลาดำเนินงานโครงการระหว่างปี 2548-2550 โดยเริ่มดำเนินการดีเดย์ตั้งแต่วันพืชมงคล คือวันที่ 11 พฤษภาคม 2548 ถึงวันที่ 5 ธันวาคม 2550 โดยมีเป้าหมายที่จะปลูกหญ้าแฝก จำนวนไม่ต่ำกว่า 300 ล้านกล้า และจนเกิดผลสำเร็จในการใช้หญ้าแฝกปรับปรุงและรักษาหน้าดินจำนวนไม่ต่ำกว่า 800,000 จุด ทั่วประเทศ โดยกรมพัฒนาที่ดินสนับสนุนกล้าพันธุ์หญ้าแฝก และถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกหญ้าแฝก ในพื้นที่ลาดชันรอบแหล่งน้ำ บ่อน้ำ สองข้างทางลำเลียง และถนน รวมทั้งพื้นที่เกษตรกรรม โดยมีการบำรุงดูแลรักษาหญ้าแฝกที่ปลูกอย่างต่อเนื่อง มีการติดตามและปลูกซ่อมแซมให้ครบถ้วน ซึ่งบันทึกข้อตกลงได้มีกำหนดระยะเวลาตั้งแต่วันที่ลงนามในบันทึกข้อตกลง คือ วันที่ 9 พฤษภาคม 2548 จนถึง วันที่ 5 ธันวาคม 2550


ลักษณะของหญ้าแฝกหญ้าแฝก

----------เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวตระกูลหญ้าชนิดหนึ่ง เช่นเดียวกับข้าวโพด ข้าวฟ่าง อ้อย ซึ่งพบกระจายอยู่ทั่วไปหลายพื้นที่ตามธรรมชาติ จากการสำรวจพบว่า มีกระจายอยู่ทั่วโลกประมาณ 12 ชนิด และสำรวจพบในประเทศไทย 2 ชนิด

1.กลุ่มพันธุ์หญ้าแฝกลุ่ม ได้แก่ พันธุ์สุราษฎร์ธานี กำแพงเพชร 2 ศรีลังกา สงขลา 3 และพระราชทาน ฯลฯ

2. กลุ่มพันธุ์หญ้าแฝกดอน ได้แก่ พันธุ์ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ร้อยเอ็ด กำแพงเพชร 1 นครสวรรค์ และเลย เป็นต้น หญ้าแฝกเป็นหญ้าที่ขึ้นเป็นกอ หน่อเบียดกันแน่น ใบของหญ้าแฝกมีลักษณะแคบยาว ขอบขนานปลายสอบแหลม ด้านท้องใบจะมีสีจางกว่าด้านหลังใบ มีรากเป็นระบบรากฝอยที่สานกันแน่นยาว หยั่งลึกในดิน มีช่อดอกตั้ง ประกอบด้วยดอกขนาดเล็กดอกจำนวนครึ่งหนึ่งเป็นหมัน


ลักษณะพิเศษของหญ้าแฝกการที่หญ้าแฝกถูกนำมาใช้ปลูกในการอนุรักษ์ดินและน้ำ เนื่องมาจากมีลักษณะเด่นหลายประการ ดังนี้

1. มีการแตกหน่อรวมเป็นกอ เบียดกันแน่น ไม่แผ่ขยายด้านข้าง

2. มีการแตกหน่อและใบใหม่ ไม่ต้องดูแลมาก

3. หญ้าแฝกมีข้อที่ลำต้นถี่ ขยายพันธุ์โดยใช้หน่อได้ตลอดปี

4. ส่วนใหญ่ไม่ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ทำให้ควบคุมการแพร่ขยายได้

5. มีใบยาว ตัดและแตกใหม่ง่าย แข็งแรงและทนต่อการย่อยสลาย

6. ระบบรากยาว สานกันแน่น และช่วยอุ้มน้ำ

7. บริเวณรากเป็นที่อาศัยของจุลินทรีย์

8. ปรับตัวกับสภาพต่าง ๆ ได้ดี ทนทานต่อโรคพืชทั่วไป

9. ส่วนที่เจริญต่ำกว่าผิวดิน ช่วยให้อยู่รอดได้ดีในสภาพต่าง ๆ

รูปแบบการปลูกหญ้าแฝกตามหลักวิชาการเพื่อให้การดำเนินการปลูกหญ้าแฝกตามโครงการนี้มีรูปแบบที่ชัดเจน จึงได้มีการกำหนดรูปแบบการปลูกที่สามารถนำไปปฏิบัติในพื้นที่ได้ ซึ่งประกอบด้วย

1.การปลูกในระบบอนุรักษ์ดินและน้ำการปลูกหญ้าแฝกเป็นแถวเดี่ยวขวางความลาดชันของพื้นที่ถ้าใช้กล้าแบบรากเปลือยจะปลูกระยะระหว่างต้น 5 เซนติเมตร ถ้าเป็นกล้าถุงพลาสติก ใช้ระยะปลูกระหว่างต้น10 เซนติเมตร โดยปลูกหญ้าแฝกเป็นแถวตามแนวระดับ ให้มีระยะห่างระหว่างแถวตามแนวดิ่งไม่เกิน 2 เมตร ความยาวของแถวหญ้าแฝกขึ้นกับสภาพพื้นที่ และพื้นที่ว่างระหว่างแถวหญ้าแฝกจะเป็นพื้นที่ปลูกพืชหลัก

2. สระน้ำปลูก 2 แถว- แถวที่ 1 ปลูกห่างขอบบ่อ 50 เซนติเมตร จนรอบบ่อ- แถวที่ 2 ปลูกที่ระดับทางน้ำเข้า จนรอบบ่อ3.อ่างเก็บน้ำปลูก 3 แถว- แถวที่ 1 ปลูกที่ระดับทางน้ำล้นจนรอบอ่าง ยกเว้นบริเวณคันหรือสันอ่างเก็บน้ำ- แถวที่ 2 ปลูกที่ระดับสูงกว่า แถวที่ 1 ตามแนวดิ่ง 20 เซนติเมตร จนรอบอ่าง ยกเว้นบริเวณคันหรือสันอ่างเก็บน้ำ- แถวที่

3.ปลูกที่ระดับต่ำกว่า แถวที่ 1 ตามแนวดิ่ง 20 เซนติเมตร จนรอบอ่าง ยกเว้นบริเวณคันหรือสันอ่างเก็บน้ำ

4. ปลูกริมคลองส่งน้ำ 1 แถว ห่างขอบคลองส่ง 30 เซนติเมตร

5. ปลูกบนร่องสวน 1 แถว ห่างขอบแปลง 30 เซนติเมตร

6. ปลูกอยู่บนไหล่ถนน 1 แถว สำหรับถนนหรือทางลำเลียง

7. ปลูกครึ่งวงกลมล้อมต้นไม้- ต้นไม้ขนาดเล็ก รัศมีขนาด 1 เมตร เป็นระยะทาง 3 เมตร- ต้นไม้ขนาดกลาง รัศมีขนาด 2 เมตร เป็นระยะทาง 6 เมตร- ต้นไม้ขนาดใหญ่ รัศมีขนาด 3 เมตร เป็นระยะทาง 9 เมตร

8. ปลูกวงกลมล้อมต้นไม้- ต้นไม้ขนาดเล็ก รัศมีขนาด 1 เมตร เป็นระยะทาง 6 เมตร- ต้นไม้ขนาดกลาง รัศมีขนาด 2 เมตร เป็นระยะทาง 12 เมตร- ต้นไม้ขนาดใหญ่ รัศมีขนาด 3 เมตร เป็นระยะทาง 18 เมตร

โครงการแก้มลิง

----------โครงการแก้มลิงเป็นโครงการที่อาศัยหลักทางธรรมชาติมาเป็นแนวทางปฏิบัติ ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสถึงเรื่องนี้ไว้ว่า "ลิงโดยทั่วไป ถ้าเราส่งกล้วยให้ ลิงก็จะรีบปอกแล้วเอาเข้าปากไปเก็บไว้ที่แก้มลิง จะเอากล้วยไปไว้ที่กระพุ้งแก้มได้เกือบทั้งหวี โดยเอาไปไว้ที่แก้มก่อน แล้วจึงนำมาเคี้ยวบริโภคและกลืนเข้าไปภายหลัง"
----------ด้วยวิธีการเช่นนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงนำมาเป็นแนวคิดในการจัดการกับปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯและพื้นที่ใกล้เคียง โดยกำหนดให้มีการหาพื้นที่ว่างหรือแหล่งน้ำธรรมชาติ ที่สามารถรองรับและพักน้ำไว้ได้ในยามน้ำหลากก่อนที่จะค่อยๆ ระบายลงสู่แม่น้ำหรือทะเลในภายหลังเช่นเดียวกับที่ลิงเก็บตุนกล้วยไว้ในแก้มก่อนที่ค่อยๆ ออกมาเคี้ยวกินทีหลังนั่นเองจากหลักการนี้เอง ได้นำไปสู่โครงการแก้มลิงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยอาศัยวิธีการผันน้ำจากพื้นที่ตอนเหนือของกรุงเทพฯ ไหลลงมาตามคลองในแนวทิศเหนือและทิศใต้ มาเก็บกักและพักไว้ในคลองขนาดใหญ่บริเวณชายทะเล ซึ่งทำหน้าที่เป็นแก้มลิง เมื่อถึงเวลาน้ำลง ซึ่งเป็นเวลาที่ระดับน้ำในคลองสูงกว่าระดับน้ำทะเล ก็ให้เปิดประตูระบายน้ำที่ปากคลอง เพื่อให้น้ำไหลออกสู่ทะเลตามแรงโน้มถ่วงของโลก ในขณะเดียวกันก็ให้สูบน้ำออกอย่างช้า เพื่อช่วยในการระบายน้ำท่วมจากพื้นที่ตอนบนไหลลง "แก้มลิง" ได้ตลอดเวลาและเมื่อเวลาน้ำขึ้นก็ให้ปิดประตูระบายน้ำปากคลองเสีย เพื่อไม่ให้น้ำไหลย้อนกลับเข้าสู่ "แก้มลิง" ซึ่งเป็นไปตามหลักการ "น้ำไหลทางเดียว"

----------ด้วยแนวพระราชดำรินี้ จึงมี "แก้มลิง" กระจายอยู่ในพื้นที่จุดอ่อนน้ำท่วมแทบทุกแห่งทั้ง "แก้มลิง" ที่กรุงเทพมหานครจัดขึ้น และประสานกับส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจอื่นๆ และยังมี "แก้มลิงเอกชน" ขนาดเล็กที่เกิดจากการร่วมกันอาสาของประชาชน โดยใช้แหล่งน้ำ เช่น บ่อพักน้ำในหมู่บ้านหรือบ้านเรือนของตนเก็บกักน้ำฝนไว้ระยะหนึ่ง ก่อนปล่อยออกสู่ระบบระบายน้ำสาธารณะในภายหลังทั้งหมดนี้ล้วนเป็นพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแก่ประชาชนชาวไทย ในขณะที่สำนักการระบายน้ำได้สนองแนวพระราชดำริอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้ปัญหาน้ำท่วมสามารถคลี่คลายไปได้